ก่อนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 นี้ มาย้อนดูสถิติที่น่าสนใจตลอดช่วงเวลาเกือบ 20 ปีในการเลือกตั้งของไทย (นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา) ไม่เพียง กติกา ที่เปลี่ยน แต่บรรดา ผู้เล่น และ กรรมการ ก็เปลี่ยนชุด มาลองดู 5 สิ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งไหนๆ กันดีกว่า
1.พรรคการเมืองมากที่สุด
กฎกติกาที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้นักวิเคราะห์การเมืองคาดการณ์ตรงกันว่าจะเกิดพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมากภายหลังการเลือกตั้ง 2562 จากฐานข้อมูลของสำนักงาน กกต. ณ วันที่ 2 ม.ค. 2562 พบว่า
มีพรรคการเมืองในสารบบ 104 พรรค ทว่าพรรคที่มีคุณสมบัติในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขต น่าจะมีไม่เกิน 40 พรรค ตามคำประเมินของ พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. อันนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะออกมาได้จริงๆ กี่พรรคกันแน่
ทั้งนี้ รศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำนายว่าพรรคที่มีโอกาสเสนอชื่อ "นายกฯ ในบัญชี" ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาได้ หรือได้ ส.ส. ไม่ต่ำกว่า 25 เสียง น่าจะมีไม่เกิน 4-5 พรรค
2.ผู้สมัคร ส.ส. เยอะที่สุด
ถ้าสำรวจยอดผู้สมัคร ส.ส. ในห้วง 20 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า แต่ละครั้งมีผู้สมัคร ส.ส. ราว 3,000 คน ทว่าครั้งที่มียอด "ทะลุครึ่งหมื่น" คือการเลือกตั้งปี 2550 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งจัดทำขึ้นมาในบรรยากาศหลังรัฐหลังประหารปี 2549 จากเดิมเป็นการเลือกแบบ "เขตเดียว เบอร์เดียว" เป็น ส.ส. เขต 400 คน และ "เขตประเทศ เบอร์เดียว" เป็น ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน แล้วทำให้เกิดปรากฏการณ์ชนะเลือกตั้งแบบแผ่นดินถล่ม (แลนด์สไลด์) ขึ้นกับพรรคไทยรักไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ของใหม่
"มือ" ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงรื้อระบบเก่า-เปลี่ยน ส.ส. เขตเป็น "เขตใหญ่ เรียงเบอร์" และปรับ-ลดยอด ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ให้เป็น "ส.ส. สัดส่วน" 80 คน โดยให้ทุกพรรคจัดทำ 8 บัญชีตามภูมิภาค
หากพรรคการเมืองราว 40 พรรคที่คาดว่าจะมีคุณสมบัติส่งผู้สมัคร ส.ส. ได้ ส่งผู้สมัคร ส.ส. เขต 200 คน จากทั้งหมด 350 เขต ก็จะทำให้มียอดผู้สมัคร ส.ส. อย่างน้อย 8,000 คนเลยทีเดียว
บางท่านอาจมีคำถามว่า "ทำไมผู้สมัครถึงได้เพิ่มขึ้นมามากเช่นนี้"
ทั้งนี้ก็น่าจะเป็นเพราะ ทุกคะแนนเสียงที่ผู้สมัคร ส.ส. ได้รับไม่ว่าเขาหรือเธอจะ "สอบได้" หรือ "สอบตก" ล้วนมีความหมายภายใต้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนที่เพิ่งนำมาใช้เป็นครั้งแรกนี้ ทำให้แต่ละพรรคการเมืองเตรียมส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตแบบเต็มพิกัด ไม่ว่าเพื่อ "บุกไปชนะ" ให้ได้เป็น ส.ส. เขต หรือ "บุกไปแพ้" แต่เก็บคะแนนกลับเข้าพรรคต้นสังกัด นำมาคำนวณเป็นยอด "ส.ส. พึงมี" ก่อนคิดเป็นยอด ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) เบื้องต้นสูตรที่มีการพูดถึงกันมากคือ "70,000 เสียง/ 1 ส.ส."
3. ใช้บัตรเลือกตั้งน้อยที่สุด
แม้มีทั้ง "พรรคเก่า" และ "พรรคใหม่" เดินเข้าสู่สนามเลือกตั้ง และมีผู้สิทธิเลือกตั้งทะลุ 50 ล้านคน แต่เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งแค่ใบเดียว จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ กกต. ต้องจัดพิมพ์จึงลดลงอย่างฮวบฮาบ
ในบัตรเลือกตั้งครั้งนี้จะบรรจุข้อมูลสำคัญ 3 ส่วน ประกอบด้วย หมายเลขผู้สมัคร, ชื่อพรรค, โลโก้พรรค จากแรกเริ่มเดิมที่ กกต. จะให้มีเฉพาะหมายเลขผู้สมัคร แต่ถูกกระแสสังคมกดดันอย่างหนัก จึงยอม "เปลี่ยนการตัดสินใจ"
4. ยืดเวลาให้เข้าคูหาได้นานที่สุด
คนไทยมีเวลา 9 ชม. ในการเดินทางไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากมีการขยายเวลาลงคะแนนเป็น 08.00-17.00 น. จากเดิม 08.00-15.00 น.
การ "ยืดเวลาเข้าคูหา" เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 โดยให้ประชาชนไปใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 08.00-16.00 น. หรือคิดเป็นเวลา 8 ชม. แต่การเลือกตั้งหนนี้คือการเลือกตั้งครั้งแรกที่มีการ "ยืดเวลาเข้าคูหา" จาก 7 ชม. เป็น 9 ชม.
5.ประชาชนสับสนที่สุด
"รูปแบบบัตรเลือกตั้ง" ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากความเข้าใจเดิม แม้ผู้สมัคร ส.ส. มาจากต้นสังกัดเดียวกัน อยู่ในจังหวัดเดียวกัน แต่เพียงข้ามเขตเลือกตั้งไป พวกเขาก็จะกลายเป็นเพื่อนร่วมพรรคที่ลงสนามเลือกตั้งด้วยหมายเลขแตกต่างกัน พรรคการเมืองจึงไม่อาจใช้แผนรณรงค์เดิม ๆ ที่ว่าเลือก พรรค ก. กาเบอร์ 0 ทั้งประเทศ ด้วยเพราะกฎหมายกำหนดให้มีการสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตก่อน และจับสลากหมายเลข ส.ส. เขตก่อน พรรคการเมืองถึงจะยื่นบัญชีผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อได้ เรียกว่ามี "350 เขต ก็มีบัตรเลือกตั้ง 350 แบบ"
นอกจากนี้ ภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม แม้ ส.ส. ยังมี 2 ระบบเช่นเดิมคือ แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่บัตรเลือกตั้งกลับหดเหลือใบเดียว จนเกิดการขนานนามกันว่าเป็นการ "เลือก 1 ได้ถึง 3" และยากจะคาดเดา "รูปแบบการตัดสินใจ" ของประชาชนว่าอยู่บนพื้นฐานเลือกตัวผู้สมัคร ส.ส. เขตที่รักหรือเลือกพรรคการเมืองที่ชอบ หรือเลือกจากราศี-บารมีของบรรดา "นายกฯ ในบัญชี" ที่พรรคต่าง ๆ ภูมิใจนำเสนอ
ตรงนี้ทำให้คอการเมืองระบุตรงกันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนสับสนที่สุด
ที่มา : 1. บีบีซีไทย
2. นิด้าโพล
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น